กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กำหนดพันธกรณีแก่ประเทศภาคี โดยใช้หลักการ “ความรับผิดชอบร่วมกันที่แตกต่าง” หรือ “common but differentiated responsibilities” โดยจำแนกประเทศภาคีเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มภาคผนวกที่ 1 (Annex 1) คือ ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาก่อน จัดเป็นกลุ่มที่มีต้องมีพันธกรณีที่เป็นรูปธรรมในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มภาคผนวกที่ 2 (Annex 2) คือ ประเทศพัฒนาแล้วตามภาคผนวกที่ 1 แต่ไม่รวมประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ (จากสังคมนิยมเป็นทุนนิยม) โดยกลุ่มนี้ จัดเป็นกลุ่มที่ต้องให้การสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างศักยภาพให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex 1) คือ ประเทศกำลังพัฒนา (ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1) ซึ่งไม่มีพันธกรณีที่จะต้องตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แต่มีพันธกรณีในการดำเนินการดังนี้
- จัดทำและปรับปรุงบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ทราบ
- จัดทำแผนของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ซึ่งรวมถึงพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ และการจัดการของเสีย
- สนับสนุนการอนุรักษ์แหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ป่าไม้ ชีวมวล และระบบนิเวศ ทั้งบนบก ชายฝั่ง และทางทะเล
- ประสานความร่วมมือเพื่อรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- คำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการกำหนดนโยบายและแผนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
- ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐสังคม และเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ส่งเสริมความร่วมมือในการให้การศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- จัดทำรายงานแห่งชาติ ครอบคลุมข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก สถานการณ์และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เผยแพร่ให้แก่ประเทศภาคีทราบ
สำหรับประเทศภาคผนวกที่ 1 และภาคผนวกที่ 2 นอกจากจะมีพันธกรณีที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกแล้วยังจะต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการจัดทำรายงานแห่งชาติ และการดำเนินการใด ๆ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถปรับตัวต่อผลกระทบนั้นได้ ให้การสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมถึงการสนับสนุนและการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่ประเทศกำลังพัฒนา
UNFCCC, United Nations 1992